เรื่องเล่าตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง (ตอนที่ 1.2) (ต่อ)

ตอนที่ 1.2 บรรพบุรุษของพระปลัดเมืองสงขลา (ต่อ)

2) เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่) เป็นบิดาของเจ้าพระยาสุรินทราชา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ(2405 - 2486)ทรงสนพระทัยเรื่องราวของเจ้าพระยาสุรินทราชามาก จึงได้ค้นคว้าเพื่อสืบหาเชื้อสายของท่าน และพบว่าบิดาของเจ้าพระยาสุรินทราชาคือเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ และท่านยังให้ช่วยกันสืบหาเชื้อสายรุ่นต่อไปอีกด้วยภรรยาเอกของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์คือท่านผู้หญิงน้อย เป็นพี่พระมารดาเจ้าขรัวเงินซื่งเป็นพระภัสดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระพี่นางองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และทรงมีพระธิดาซึ่งภายหลังคือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราพระบรมราชินีในรัชกาลที่2 และเป็นพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และท่านผู้หญิงน้อยนี้เป็นมารดาของเจ้าพระยาสุรินทราชา เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นขุนนางคู่บารมีพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นขุนนางคนสำคัญที่ทำให้พระองค์ได้ครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์องค์ที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์มีตำแหน่งเป็นโกษาธิบดีซึ่งมีอำนาจมาก เพราะนอกจากจะดูแลการคลังและกระทรวงต่างประเทศแล้ว ยังดูแลหัวเมืองฝ่ายตะวันออกที่เป็นเมืองท่าด้วย เช่นจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงครามด้วย และเมื่อพระสมุหกลาโหมทำความผิดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้โอนหัวเมืองที่อยู่ทางใต้เพชรบุรี และเมืองฝั่งอ่าวไทย เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน และทรงไว้วางพระทัยมาก ทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ เช่นครั้งหนึ่งเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์และเจ้าพระยาราชภักดีถูกกล่าวหาว่าทำผิดในเรื่องเดียวกัน เจ้าพระยาราชภักดีถูกโบยหลัง 20 ที แต่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์โปรดให้ภาคทัณฑ์ อันที่จริงเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์เป็นที่โปรดปรานมานานตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นขุนชำนาญ โดยที่ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังเป็นกรมพระราชวังบวรฯอยู่ ขุนชำนาญได้ถูกเจ้าพระยาพระคลังกล่าวโทษและถูกสอบสวนต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้น และด้วยความช่วยเหลือของกรมพระราชวังบวรฯ ทำให้ขุนชำนาญไม่ได้รับโทษ
เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ 2295 พระเจ้าบรมโกศก็โปรดให้เกียรติเสมอเจ้า โดยพระราชทานเครื่องชฎาให้แต่งศพ และให้เรียกศพว่า " พระศพ " ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะได้รับ

3) เจ้าพระยาพิษณุโลก(เมฆ) เป็นบิดาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ แต่ได้ละเพศพราหมณ์และตัดมวยผม แล้วเข้ารับราชการในสมัยพระเจ้าเสือ(2246 - 2251) เป็นที่หลวงทรงบาศ อยู่ในกรมพระคชบาลแล้วเติบโตในวงราชการ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (2251 - 2275)ได้รับโปรดเกล้าให้เป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช และโปรดเกล้าให้ครองเมืองพิษณุโลก จึงเรียกกันว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก(เมฆ) เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราชนี้ ในบั้นปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ ได้ย้ายเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา และถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อนจะสิ้นรัชกาล

4) พระมหาราชครูประโรหิตาจารย์ เป็นบิดาของเจ้าพระยาพิษณุโลก(เมฆ) ท่านเป็นพราหมณ์ปุโรหิต 

ปุโรหิต คือตำแหน่งหัวหน้าพราหมณ์เป็นผู้ที่ทำพิธีในราชสำนักของกษัตริย์ และเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในทางนิติ คือ ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา พราหมณ์มีความสำคัญมากในราชสำนัก และเป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ หน้าที่หลักของพราหมณ์คือ การเป็นปุโรหิต ให้คำปรึกษาราชการ เป็นครูผู้สอนศิลปวิทยาการ เป็นโหราจารย์ในการถวายคำพยากรณ์ และถวายพระฤกษ์ในการประกอบพิธีต่างๆฺ นอกจากพราหมณ์มีหน้าที่ในการถวายพระอักษร แด่พระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้มีความรู้ศิลปศาตร์แขนงต่างๆ ยังมีหน้าที่ในการแต่งตำราและวรรณคดี เช่น วรรณคดีเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ สำนวนพระมหาราชครู หนังสือจินดามณี เป็นต้นแบบตำราเรียนไทย ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระโหราธิบดี(พราหมณ์)แต่งขึ้น เพื่อใช้สอนมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพราหมณ์เป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ พราหมณ์ราชสำนักในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาชี้ตัวบทกฎหมายในคดีต่างๆ แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับคดี พราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีทั้งสิ้น 12 คน โดยมีพระมหาราชครูปุโรหิต และพระมหาราชครูมหิธร เป็นหัวหน้าพระมหาราชครูมหิธร เป็นพระมหาราชครูฝ่ายลูกขุน ณ ศาลหลวง พระมหาราชครูประโรหิตาจารย์ เป็นพระมหาราชครูฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตทั้ง 2 ตำแหน่งมีศักดินา 10,000 เท่ากัน ซึ่งเทียบเท่ากับ ออกญาหรือพระยา ตำแหน่งสูงสุดของเสนาบดีชั้นสูงของสมัยอยุธยาเลยทีเดียว

5) พระมหาราชครูศิริวัฒนพราหมณ์ เป็นบิดาของพระมหาราชครูประโรหิตาจารย์ ท่านเป็นพราหมณ์พิธี รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(2299 - 2231)
พราหมณ์พิธี ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางพราหมณ์ บวงสรวงเทวดา บูชาเทพเจ้า พระผู้เป็นเจ้า และขอพรอันเป็นมงคล
พระมหาราชครูศิริวัฒนนี้ เป็นสายสกุลอันดับสุดท้ายของเจ้าพระยาสุรินทราชาที่สืบค้นได้
หนังสือเรื่องเชื้อสายของพระมหาราชครูศิริวัฒนพราหมณ์ แต่งและเรียบเรียงโดยขุนศิริวัฒนอาณาทร(ผล ศิริวัฒนกุล) กล่าวถึงสกุลพราหมณ์เชื้อสายของพระมหาราชครูศิริวัฒนนี้ว่า เข้ามาอยู่ที่กรุงสุโขทัยก่อน แล้วจึงย้ายลงมารับราชการในกรุงศรีอยุธยา จะสืบเชื้อสายมาอย่างไร และนานเท่าใด ไม่มีหลักฐาน แต่เพิ่งมาจดจำกันได้ตั้งแต่ชั่วของพระมหาราชครูศิริวัฒน

ดังนั้นเชื้อสายของเจ้าพระยาสุรินทราชาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่สืบค้นได้คือ
1) พระมหาราชครูศิริวัฒนพราหมณ์
2) พระมหาราชครูประโรหิตาจารย์
3) เจ้าพระยาพิษณุโลก(เมฆ)
4) เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่)
5) เจ้าพระยาสุรินทราชา(จันท์)

ทั้ง 5 ท่านข้างบนนี้เป็นบรรพบุรุษของพระยาถลาง(ฤกษ์)และพระปลัดเมืองสงขลา ซึ่งบรรพบุรุษที่อยู่ถัดจากท่านขึ้นไป 3 ลำดับชั้น เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ระดับเจ้าพระยา และอีก 2 ลำดับชั้น เป็นพราหมณ์ชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้นจะเห็นว่าพระปลัดเมืองสงขลามีเชื้อสายพราหมณ์อยู่ด้วย ท่านจึงเป็นผู้เข้าใจในขนบธรรมเนียมและราชประเพณีเป็นอย่างดี รวมทั้งตัวบทกฎหมาย จึงได้รับเลือกให้มาปฏิบัติราชการที่เมืองสงขลา ตามความต้องการของพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง)
____________
จบตอนที่ 1.2
ขอเชิญติดตามตอนต่อไป ตอนที่ 2.1 หลวงเทพอาญา(บุตรของพระปลัดเมืองสงขลา)

= รวบรวมและเรียบเรียง โดย =
《 ผศ. มยุรี เลื่อนราม 》

Back to Top