เล่าเรื่องจากบ้าน คุณสุเทพ ณ สงขลา ตอนที่ 3

“เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6”

เรื่องเล่าจากบ้าน ณ สงขลาวันนี้ จะขอนำเรื่องที่คุณลุงสุเทพ ณ สงขลา บุตรพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) ได้เคยเล่าให้ผมฟัง มาเล่าให้ญาติๆ ฟัง แต่เนื่องจากเป็นการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ผมจึงได้ใช้ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พร้อมศักดิ์ ณ สงขลา ประกอบด้วย

คุณลุงสุเทพเล่าว่า เจ้าคุณพ่อรับราชการ มีความเจริญก้าวหน้าจนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระพฤกษาภิรมย์ เจ้ากรมสวนหลวง ในปี พ.ศ.2453 ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพฤกษาภิรมย์ ในปี พ.ศ.2456 และได้เป็นพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ในปี พ.ศ.2461 มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลสวนทุกแห่งในพระราชวังทั้งในและนอกพระนคร ให้มีความสง่างามสมพระเกียรติยศ เนื่องจากเจ้าคุณพ่อจบวิชาเกษตรและการทำสวนจากประเทศอังกฤษ

พระยาอภิรักษ์ฯ ได้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ทั้งงานประจำในฐานะเจ้ากรมสวนหลวง และหน้าที่ราชการในกองเสือป่า ที่ทรงริเริ่มโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยยกกระบัตรเสือป่า กองเสือป่าเสนาหลวง และได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานอย่างใกล้ชิดและเป็นที่โปรดปรานเสมอมา จนถึงปลายรัชสมัยจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี (พ.ศ.2465)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางแผนที่จะตัดถนนสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้เจ้าคุณพ่อเข้าเฝ้าฯ ทุกวันอาทิตย์ และโดยที่คุณลุงตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่ จึงชอบตามไปดูรถไฟจำลองเล็กๆ แล่นด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งแล่นอยู่ในผังเมืองจำลอง จึงตามหลังเจ้าคุณพ่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เพื่อดูรถไฟเล็กๆ นั้นด้วยแทบทุกอาทิตย์ ซึ่งทุกครั้งจะต้องไปเข้าเฝ้าฯ และนั่งหมอบอยู่ใกล้ๆ เบื้องพระยุคลบาท พร้อมกับเจ้า “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดของรัชกาลที่ 6 ด้วยในระยะไม่ถึงหลา

ผลงานที่เจ้าคุณพ่อได้ทำไว้ เท่าที่คุณลุงยังจำได้คือ ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นถนนสายหลัก ตั้งต้นจากลานพระบรมรูปทรงม้าตรงไปยังสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สองข้างถนน เจ้าคุณพ่อได้ปลูกมะขามต้นเตี้ยๆ ไว้ เพราะปลูกด้วยเมล็ดลงในกระป๋องนม ต้นจึงมีขนาดเล็กตามวิธีการของเจ้าคุณพ่อ นอกจากนี้ เจ้าคุณพ่อยังมีส่วนร่วมในการดูแลการก่อสร้างสถานีรถไฟ “จิตรลดา” (หรือสถานีรถไฟหลวงสวนจิตรลดา) หลังปัจจุบันที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2465 ทดแทนอาคารไม้หลังเดิม ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเป็นสถานีสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการเสด็จฯ ทางรถไฟ อีกทั้งได้เคยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะในบางโอกาสอีกด้วย ซึ่งทั้งต้นมะขามและสถานีรถไฟ “จิตรลดา”ก็ยังปรากฏอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเหตุการณ์ตอนหนึ่งในประวัติต้นรัชกาลว่า “เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดพายุใหญ่ในตอนบ่ายราว 3 นาฬิกาเศษ ที่ในพระบรมมหาราชวังได้รู้สึกว่ามีลมพัดแรงจัดและหอบเอาฝนไปด้วย แต่ก็มิได้รู้สึกว่ารุนแรง พายุได้มีผลร้ายที่ทางปะทุมวันกับพญาไท ที่ปะทุมวันโรงเรียนตำรวจพระนครบาลได้พัง….ทางถนนประแจจีนพายุได้พัดเอาเรือนพระพฤกษาภิรมย์ (ทิตย์ ณ สงขลา) ซวนไป”

บ้านของพระยาอภิรักษ์ฯ อยู่บนถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานให้แก่ข้าราชบริพารและข้าราชสำนักในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ช่วงระหว่างสะพานขาวกับประตูน้ำเฉลิมโลก ด้านหลังเป็นคลองเชื่อมต่อถึงคลองแสนแสบ รั้วบ้านเป็นสังกะสีสีเขียวใบไม้อ่อน มีป้ายอักษรเขียนว่า “พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน” ภายในประกอบด้วยเรือน 3 หลัง เรือนหน้าเรียกว่า เรือนนกเขา เนื่องจากชั้นล่างก่อปูนทาสีเหลือง มีหน้าต่างรูปโค้งตัดขอบด้วยสีช็อกโกแลต ชั้นบนมีหลังคากระเบื้องสีอิฐ ทรงแหลมสูง เปิดโล่งระบายอากาศและมีราวลูกกรงกันตก ดูคล้ายกรงนกเขา จัดให้เป็นที่อยู่ของลูกๆ ผู้ชาย เรือนถัดมาเป็นเรือนสำหรับลูกๆ ผู้หญิง เรือนหลังใหญ่ซึ่งอยู่ด้านในสุด สร้างแบบทรงฝรั่ง ชั้นล่างเป็นปูนชั้นบนเป็นไม้ ทาสีขาวนวลและหลังคามุงกระเบื้องสีอิฐ เป็นที่พักของพระยาอภิรักษ์ฯ และคุณหญิงเท่านั้น

เจ้าคุณพ่อเพียงคนเดียวที่นับได้ว่า เป็นข้าราชการที่ได้มีโอกาสรับราชการฉลองใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดที่สุดจนถึงวาระสุดท้ายของรัชกาลที่ 6 ก็ว่าได้ เพราะวันนั้นเป็นวันที่เจ้าคุณพ่อเข้าเวรพอดี (ผู้ที่จะเข้าเวรนั้นจะต้องเป็นขุนนางชั้นพระยาพานทอง มีสายสะพายขึ้นไป จนถึงชั้นเจ้าพระยา ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้น) เจ้าคุณพ่อจำได้ถึงรับสั่งสุดท้ายที่ว่า “สุขเพราะไพร่ฟ้าสุขสมบูรณ์” (รศ.ดร.ชำนาญ ณ สงขลา น้องชายต่างมารดาของคุณลุงได้ตีความไว้ว่าตรงกับภาษาชาวบ้านว่า “นอนตาหลับ”) หลังจากกลับมาถึงบ้าน เจ้าคุณพ่อรีบเอาแท่งชอล์กมาเขียนไว้บนฝากระดานไม้ของผนังบ้านทันที เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจถึงปณิธานในการทำงานรับราชการจาก รัชกาลที่ 6 และสั่งสอนบอกต่อลูกหลานตลอดมา

จบตอนที่ 3

พระยาพฤกษาภิรมย์ เมื่ออายุ 34 ปี

เครดิต: ดร.เวคิน สุวรรณคีรี

Back to Top