หลวงเทพอาญา (วร) และเครือญาติสายพระปลัดเมืองสงขลา (น้องพระยาถลาง)


family_honour011เครือญาติ ณ สงขลา (สาย ณ ถลาง) สืบเชื้อสายจาก พระปลัดเมืองสงขลา (น้องพระยาถลาง) ซึ่งรับราชการในสมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๔

พระปลัดเมืองสงขลา เดิมอยู่ที่เมืองถลาง เป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี  จึงได้รับคำสั่งจากทางกรุงเทพฯ ให้มาช่วยงานด้านกฎหมายที่เมืองสงขลา โดยเป็น กรมการเมืองฝ่ายกฎหมาย และภายหลังเป็นปลัดเมืองสงขลา สำหรับราชทินนามของท่านไม่ปรากฏแน่ชัด เพราะผู้คนมักจะเรียกชื่อตำแหน่งปลัดเมืองของท่านมากกว่าชื่อที่เป็นราชทินนาม แล้วเติมบรรดาศักดิ์ไว้ข้างหน้า เป็นพระปลัดเมืองสงขลาเช่นเดียวกับปลัดเมือง อื่นๆ ในสมัยนั้น เช่น พระปลัดเมืองพัทลุง และพระปลัดเมืองนคร เป็นต้น พระปลัดเมืองสงขลาเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถได้ช่วยงานราชการบ้านเมืองเป็นอย่างดี และกล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวางเสาหลักเมืองของเมืองสงขลาในสมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง)

 

พระปลัดเมืองสงขลาได้สมรสกับสตรีซึ่งมีเชื้อสายของตระกูล ณ สงขลา และมีบุตร คือ หลวง เทพอาญา (วร ณ สงขลา)

หลวงเทพอาญา (วร ณ สงขลา) เป็นนักกฎหมายเจริญรอยตามบิดา และรับราชการในสมัยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ได้ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายกฎหมายประจำเมืองสงขลาและเป็นทนายแผ่นดินซึ่งตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสมัยนั้นเรียกว่า จอม ดังนั้นท่านจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “จอมเทพอาญา” แต่คนทั่วไปมักจะเรียกสั้นๆ ว่า “จอมเทพญา”  หลวงเทพอาญาได้สมรสกับคุณจวง ณ สงขลา (สมัยนั้นเรียกท่านว่า “แม่นายจวง”) ซึ่งมีเชื้อสายใกล้ชิดกับตระกูล ณ สงขลา สายเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) มาก ดังจะเห็นได้จากการที่ครอบครัวของหลวงเทพอาญาและคุณจวง ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีได้พักอาศัยอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองสงขลา แต่ต่อมาเมื่อพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) มีดำริจะสร้างจวนเจ้าเมืองใหม่ หลวงเทพอาญาจึงได้รับมอบที่ดินบริเวณใกล้ๆ กับจวนเจ้าเมือง ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนหน้าวัดไทรงามและอีกด้านหนึ่งจดถนนหน้าวัดแจ้ง โดย ท่านได้สร้างบ้านพักอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และยังคงมีเชื้อสายของท่านอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน

สิ่งซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของลูกหลานประการหนึ่ง คือ หลวงเทพอาญาและคุณจวง ได้รับมอบและเก็บรักษาภาพของบุคคลสำคัญในตระกูล ณ สงขลา ถึง ๔ ภาพ กล่าวคือ ภาพแรกเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) วาดจากรูปถ่ายครึ่งตัวแต่งตัวเต็มยศและระบายสีใส่กรอบไม้รุ่นเก่าคาดกันว่าเป็นภาพวาดต้นฉบับของบรรพบุรุษในตระกูล ณ สงขลา ที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน อีกสองภาพเป็นภาพวาดพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) บุตรของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) (ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาสืบต่อจากบิดา แต่ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเสียก่อน) ทั้งสองภาพดังกล่าวเป็นภาพสี  วาดจากรูปถ่ายครึ่งตัว ภาพหนึ่งอยู่ในวัยกลางคน และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพเมื่อปลายอายุ และภาพที่สี่เป็น ภาพวาดสีถ่านขาวดำครึ่งตัวของคุณหญิงพับ ภริยาพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) เป็นภาพขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน ใส่กรอบไม้ลวดลายงดงามมาก

ภาพเหล่านี้ภายหลังได้ตกทอดมาถึงบุตรชายคนโตของหลวงเทพอาญา คือ ขุนจำนงนรากิจ  (ชร ณ สงขลา) ซึ่งได้แขวนภาพทั้งหมดนี้ไว้เหนือขอบหน้าต่างที่ห้องหน้ามุขซึ่งอยู่ต่อจากห้องรับแขก ความสูง ของภาพเกือบจดเพดานห้อง เป็นภาพขนาดใหญ่เท่าๆ กันทุกภาพ มองเห็นแต่ไกลได้ชัดเจน แลดูงามสง่าและน่าเกรงขาม ลูกหลานเห็นภาพเหล่านี้จนชินตา ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความภาคภูมิใจต่อบรรพบุรุษของตระกูล ณ สงขลา

ปัจจุบัน ภาพทั้งหมดนี้ได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา โดยความอนุเคราะห์ของบุตรีของขุนจำนงค์ฯ คือ คุณอินทิรา (ณ สงขลา) นิตยวิมล และคุณผะอบ (ณ สงขลา) จิตตัคคานนท์ เหลือเพียงภาพถ่ายรุ่นหลังของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศที่มอบไว้เป็นที่ระลึกให้แก่ขุนจำนงค์ฯ ซึ่งลูกหลานของท่านยังคงเก็บรักษาไว้ด้วยความเคารพตลอดมา

หลวงเทพอาญา (วร ณ สงขลา) มีบุตร-ธิดา ๖ คน ได้แก่ (๑) นางแนม ณ สงขลา (สมรส) (๒) ขุน จำนงค์นรากิจ (ชร ณ สงขลา) สมรสกับนางผัด (๓) นางอ้น ณ สงขลา (๔) นางพินิจนรากร (เจิม ณ สงขลา) สมรสกับพระพินิจนรากร (๕) คุณหญิงสุรกานต์ประทีปแก้ว (ตาด ณ สงขลา) สมรสกับ พระยาสุรกานต์ประทีปแก้ว  (หนิ) บุตรพระยาวิเชียรคีรี (ชม) และ (๖) นายสุดใจ ณ สงขลา สมรสกับนางพุ่ม

ข้อมูล           จาก ผศ. มยุรี เลื่อนราม  พ.อ. ยอดญาดา มีนะกนิษฐ  พล.ต. หญิง ปานฑรา มีนะกนิษฐ และลูกหลาน สายพระปลัดเมืองสงขลา

ภาพถ่าย       จากคุณเฉลิมชัย โรจนะหัสดิน

 

 

Back to Top